top of page
รูปภาพนักเขียนFutureEd Fest

Unlocking Future Skills การเตรียมความพร้อมสู่อนาคต

อัปเดตเมื่อ 7 ธ.ค. 2566



วันที่ 8 ตุลาคม 2566 งานเทศกาลการศึกษา FutureEd Fest 2023 มีกิจกรรม Panel Discussion ที่น่าสนใจ เพราะเชิญผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรชื่อดังมาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทักษะอนาคตที่สำคัญ ดังรายละเอียดหัวข้อการแลกเปลี่ยนช่วงที่ 1 ต่อไปนี้

“Unlocking Future Skills: การเตรียมความพร้อมสู่อนาคต”

โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล (ดีเจอ้อย) นักสร้างแรงบันดาลใจ และคุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนพูดคุย โดย คุณดนู สิงหเสนี (ดีเจตั้ม)


คำถามที่ 1: คำว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” นิยามความหมายนี้อย่างไร


ดีเจพี่อ้อย: “เรียนจบไม่ได้แปลว่าสิ้นสุดการเรียนรู้ แต่เราเปลี่ยนครูไปเรื่อยๆ” เพราะไม่ว่าจะเรียนอะไรมา แต่พอไปทำงานต้องยอมรับว่า สิ่งที่เราเรียนมาหลายๆ ครั้ง ต้องนำมาประยุกต์เสมอ การเรียนในระบบทำให้เราได้ Hard Skill แต่ Soft Skill คือคนทุกคนต้องพร้อมจะเรียนรู้เสมอ และเมื่อโลกหมุนไป เราก็ต้องหมุนตาม เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อก่อนเราอาจจะมีความคิดว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่สมัยนี้ปลาเร็วกินปลาช้า ยุคหลังโควิดคือปลาที่อยู่รอด คือปลาที่อยู่ได้ทุกสถานการณ์ และ Soft skill ที่เด็กควรมี คือ เด็กต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน เราจงเป็นเป็ดที่เป็นเป็ดพรีเมี่ยม หมายถึง การทำได้ทุกอย่าง ทำได้ดี เช่นการสัมภาษณ์เมื่อถูกถามและเราตอบว่า “ได้ค่ะ หนูพร้อมเรียนรู้” จึงเป็น soft skill ที่สำคัญ


คำถามที่ 2: Soft Skill ที่จะต้องเพิ่มกับเด็กและผู้ใหญ่ในยุคนี้ คืออะไร

คุณธันว์ธิดา : โลกการทำงานเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ปัจจุบันคือความคล่องตัวและยืดหยุ่น ดังนั้นทักษะที่สำคัญโลกนี้คือ Social Skill หรือ Emotional Skill ทักษะทางสังคม ที่ไม่ว่าจะทำงานอะไร เราก็จะรอด ใช้ได้กับทุกอาชีพ และจำเป็นมาก เช่น การรับผิดชอบ การเห็นอกเห็นใจ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การล้มและลุก เรียนรู้และเติบโต ทำให้เราไม่ยอมแพ้ เราควรส่งเสริมทักษะเหล่านี้ทั้งในระดับโรงเรียนและครอบครัว ในส่วนของการทำงาน คือ ทักษะการบริหารจัดการและเวลา คิดเองทำเองได้ ทักษะการคิดริเริ่มมีความคิดแบบเติบโตตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นายจ้างมองหาในการทำงาน


ดีเจพี่อ้อย: การสื่อสารไม่ได้แปลว่าต้องทำงานด้านการสื่อสารมวลชนเท่านั้น การสื่อสารมีหลายแบบ เช่น การสื่อสารทางสายตา การสื่อสารคำพูด พูดให้เป็น การสื่อสารกับคนไม่ชอบได้ การรับฟัง การมีคุณสมบัติการฟังที่ดี เช่น ถ้าเขาพูดตรงๆมา แต่เราเถียง อันนี้ไม่ถือว่ามีคุณสมบัติการฟังที่ดี การเงียบและรับฟังคือการการสื่อสารที่ดีรูปแบบหนึ่ง และการฟังตัวเองด้วยว่าเราต้องการอะไร และสื่อสารกับผู้อื่นอย่างเป็นมิตรเพื่อการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เราต้องให้เกียรติคนอื่น บางครั้งเราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เราจะไม่ว่าเขา แต่เราจะอยู่ข้างๆ แต่ไม่เข้าข้าง เพราะฉะนั้น การพูดเป็นการสื่อสารแค่ 20% แต่ภาษาทางกายก็สำคัญเช่นกัน เช่น รอยยิ้ม น้ำเสียง สายตา เป็นต้น เพราะทุกองค์กรต้องการคนที่มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ


คำถาม 3: อยากจะให้ผู้เรียนมีทักษะอะไรมากขึ้นกว่าเดิม หรือต้องพัฒนาทักษะอย่างไร

คุณธันว์ธิดา : นอกจากทักษะทางสังคมที่กล่าวแล้วนั้น เราน่าจะส่งเสริมเรื่องการดูแสสุขภาวะเรื่องสภาพจิตใจด้วย ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเครียดสูง ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก บ่มเพาะความอดทน อดทนที่จะรอ เพื่อเป็นการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทักษะเหล่านี้สร้างขึ้นมาได้ผ่านคุณครู ผ่านบรรยากาศในห้องเรียน และทำอย่างต่อเนื่อง


ดีเจพี่อ้อย: ต้องรู้ตัวก่อนว่านิสัยบางอย่างของเรามันไม่ดี เราต้องรู้จักตัวเองก่อน และบอกว่าตัวเองว่าไม่มีอะไรเสมอไป เราต้องเข้าใจว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง เราต้องเปลี่ยนแรงกดดันให้เป็น passion ไม่ใช่การกดดันเพื่อความเครียด เราต้องค่อยๆ ให้กำลังใจตัวเอง สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ทักษะการใช้ Social ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สื่อส่วนตัวอีกต่อไป เพราะ HR ดู Social ก่อนที่รับคนเข้าทำงาน เพราะฉะนั้น เราต้องคิดก่อนโพสเสมอ เพื่อการเตรียมความพร้อมตัวเองก่อนที่ไปทำงาน


คุณธันว์ธิดา : Unlocking Future Skill ต้องมองทักษะที่กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันเรามีเศษฐกิจแบบนวัตกรรม เราต้องผสมผสานทักษะหลายอย่างเข้าด้วยกัน เราต้องทำได้หลายอย่าง เพื่อความอยู่รอดในโลกอนาคตและทำให้เราประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษาจะต้องส่งเสริมทักษะอารมณ์และสังคม ควบคู่ไปกับทักษะที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนประสบความสำเร็จ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป


คำถาม 4: การอยู่ร่วมกันด้วยความหลายทางอายุ จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร


ดีเจพี่อ้อย: มีอะไรคุยกัน ไม่สำคัญเท่ามีอะไรฟังกันหรือเปล่า การมีหลายเจนไม่ใช่ปัญหาเท่าการเราเหยียดเจนหรือเปล่า เราต้องไม่เหยียดกันและมองเห็นความแตกต่าง เพราะความแตกต่างทำให้โลกหมุนไป ต้องเรียนรู้ระหว่างกัน


คุณธันว์ธิดา : การรู้จักเป็นรายบุคคล จะต้องไม่เหมารวม แต่มีวิธีการทำงานกับคนรุ่นใหม่ คือ 1) หาแรงบันดาลใจว่าคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องอะไร 2) พยายามหางานให้ตรงกับแรงบันดาลใจของเขา 3) ให้ความท้าทายแก่คนรุ่นใหม่ ทำให้เราอยู่กันได้ เราต้องรู้ความต้องการของแต่ละกลุ่ม


จาก Panel Discussion ช่วงที่ 1 ในหัวข้อ Unlocking Future Skill ในวันนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นแนวทางการพัฒนาตัวเองเพื่อการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในอนาคต และการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน





ดู 32 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page